ประเพณีวันสารทเดือนสิบ
"วันสารทเดือนสิบ" เป็นการทำบุญกลางเดือนสิบเพื่อนำเครื่องอุปโภคและเครื่องบริโภคไปถวายพระ เป็นการอุทิศส่วนกุศลแก่บรรพบุรุษของตน
วัตถุประสงค์
เพื่ออุทิศส่วนบุญแก่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับ ภาษาบาลีว่า "เปตชน" ภาษาชาวบ้านว่า "เปรต" ซึ่งหมายถึง ผู้ที่รับความทุกข์ทรมานจากวิบากแห่งบาปกรรมที่ทำไว้ในเมืองมนุษย์ เมื่อตายไปจึงเป็นเปรตตกนรก อดอยากยากแค้น คนข้างหลังจึงต้องทำบุญอุทิศให้ปีละครั้งเป็นการเฉพาะ
ความเชื่อ
พุทธศาสนิกชนเชื่อว่า บรรพบุรุษได้แก่ ปู่ ย่า ตา ยาย และญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว หากทำความดีไว้เมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่ จะได้ไปเปิดในสรวงสวรรค์ แต่หากทำความชั่วจะตกนรกกลายเป็นเปรต ต้องทุกข์ทรมานในอเวจี ต้องอาศัยผลบุญที่ลูกหลานอุทิศกุศลไปให้ในแต่ละปีมายังชีพ ดังนั้นในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 คนบาปทั้งหลายที่เรียกว่าเปรตจึงถูกปล่อยตัวกลับมายังโลกมนุษย์ เพื่อมาขอส่วนบุญจากลูกหลาน แล้วจะกลับไปนรกในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10
ขั้นตอนการจัดหมรับ
การจัดหมรับ (หรือ สำรับ) มักจะจัดขั้นตอนการจัดหมรับเฉพาะครอบครัว หรือจัดร่วมกันในหมู่ญาติ และจัดเป็นกลุ่ม ภาชนะที่ใช้จัดหมรับใช้กระบุงหรือเข่งสานด้วยตอกไม้ไผ่
การจัดหมรับ คือ การบรรจุและประดับด้วยสิ่งของ อาหารขนมเดือนสิบลงภายในภาชนะที่เตรียมไว้เป็นชั้นๆ ดังนี้
1. ชั้นล่างสุด จัดบรรจุสิ่งของประเภทอาหารแห้งลงไว้ก้นภาชนะ
2. ชั้นที่สอง บรรจุอาหารประเภท พืช ผัก ที่เก็บได้นาน ใส่ขึ้นมาจากชั้นล่างสุด
3. ชั้นที่สาม จัดบรรจุสิ่งของประเภทของใช้ในชีวิตประจำวัน
4. ชั้นที่สี่ ใช้บรรจุและประดับประดาด้วยขนมอันเป็นสัญลักษณ์ของสารทเดือนสิบเป็นหัวใจของหมรับ ได้แก่ ขนมพอง ขนมลา ขนมกง(ขนมไข่ปลา) ขนมบ้า ขนมดีซัม ขนมเหล่านี้มีความหมายในการทำบุญเดือนสิบซึ่งขาดเสียมิได้เพื่อให้บรรพบุรุษและผู้ล่วงลับไปแล้ว ได้นำไปใช้ประโยชน์
การยกหมรับ
วันแรม 15 ค่ำ ชาวบ้านจะนำหมรับที่จัดเตรียมไว้ ไปทำบุญอุทิศส่วนกุศลที่วัดโดยเลือกวัดที่ใกล้บ้านหรือวัดที่บรรพบุรุษของตนนิยม และนำภัตตาหารไปถวายพระด้วย วันนี้เรียกว่า "วันยกหมรับ"
การฉลองหมรับและการบังสุกุล
วันแรม 15 ค่ำ ซึ่งเป็นวันสารทเรียกว่า "วันฉลองหมรับ" มีการทำบุญเลี้ยงพระและบังสุกุล การทำบุญวันนี้เป็นการส่งบรรพบุรุษและญาติพี่น้องให้กลับไปเมืองนรก นับเป็นสำคัญยิ่งวันหนึ่งซึ่งเชื่อกันว่าหากไม่ได้ทำพิธีกรรมในวันนี้บรรพบุรุษและญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้วจะไม่ได้รับส่วนบุญส่วนกุศลทำให้เกิดทุกขเวทนาด้วยความอดยาก ลูกหลานที่ยังมีชีวิตอยู่ก็กลายเป็นคนอกตัญญูไป
การตั้งเปรตและการชิงเปรต
เสร็จจากการฉลองหมรับและถวายภัตตาหารแล้ว ก็นิยมนำขนมอีกส่วนหนึ่งไปวางไว้ที่ลานวัด โคนไม้ใหญ่ หรือกำแพงวัด เรียกว่า "ตั้งเปรต" เป็นการแผ่ส่วนกุศุลให้เป็นสาธารณทานแก่ผู้ที่ล่วงลับที่ไม่มีญาติหรือญาติไม่ได้มาร่วมทำบุญให้ เมื่อถึงเวลาที่กำหนด ชาวบ้านก็จะแย่งชิงขนมที่ตั้งเปรตไว้ เรียกว่า"ชิงเปรต" ถือว่าผู้ที่ได้กินขนมจะได้บุญ